มะเร็งกล่องเสียง เจอเร็ว รักษาได้
จากสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียง หากไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี เพราะมะเร็งได้ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น โดยเฉพาะไปอุดกล่องเสียงทำให้การหายใจติดขัดไม่สะดวก และอวัยวะที่อยู่ใหล้เคียง ได้แก่ หลอดเลือดแดงใหญ่ของลำคอก็โดนมะเร็งลุลามทำให้เลือดออกมากผิดปกติ หรือลุกลามไปกดหลอดอาหาร ทำให้การกลืนอาหารเป็นไปได้ยากหรือไม่สามารถทำได้ เป็นต้น แต่หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถช่วยให้หายขาด และพูดได้เป็นปกติ หรือแม้ในรายที่เป็นระยะลุกลาม และได้รับการผ่าตัดกล่องเสียง ก็มักจะมีชีวิตยืนยาว และสามารถฝึกพูดจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้
การรักษามะเร็งกล่องเสียง
ในการจะรักษา ลำดับแรกเลยคือผู้ป่วยต้อองรู้ตนเอง หากพบว่ามีความเสี่ยง ควรรีบมาพบแพทย์ เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษา โดยแนวทางการรักษาเป็นดังต่อไปนี้
หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียงเป็นระยะแรกเริ่ม คือ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แพทย์จะทำการรักษาโดยให้ฉายรังสี หรือเลือกที่จะผ่าตัดไปเลย ซึ่งต้องเลือกเพียงวิธีเดียว ซึ่งผลของการรักษาต้องได้เท่าเทียมกัน แต่ทั้งนี้การฉายรังสีรักษามะเร็งกล่องเสียงจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าตรงที่เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดได้ และไม่ทำลายกล่องเสียง ทำให้ผู้ป่วยสามารถพูดได้เป็นปกติ ส่วนในการผ่าตัด มักจะผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนเท่านั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถพูด และกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจมีเสียงแหบบ้าง
ถ้าเป็นระยะลุกลาม คือ ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ด้วยความที่เป็นระยะลุกลามแล้ว การรักษาจะเป็นการใช้การรักษาร่วมกัน หลายๆ วิธี โดยอาจจะต้องได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงแบบตัดออกทั้งหมด รวมทั้งจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองที่มีอาการโต หรืออวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมไปกับการฉายรังสี นอกจากนี้บางรายที่เข้าสู่ระยะลุกลามแบบหนักมากๆ โดยอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้การฆ่าเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยการรักษาอย่างหนักหน่วงนี้จะทำให้หลังผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ แต่สามารถจะรับประทานอาหารได้ปกติในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยยังคงจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียง โดยการกลืนลมเร็ว ๆ แล้วเอาลมจากกระเพาะอาหารย้อนผ่านหลอดอาหารออกมาเป็นเสียง (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx) ซึ่งเป็นเครื่องแปลงการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นเสียง หรืออาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร
ทั้งนี้ แพทย์หู คอ จมูก, แพทย์รังสีรักษา และแพทย์อายุรกรรมด้านมะเร็ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางวิธีการรักษา โดยประเมินจากความรุนแรง และ ระยะของมะเร็ง, ความพร้อมในด้านต่างๆ ของสถาบันที่ให้การรักษา รวมถึงสภาพของผู้ป่วยด้วย
การป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล่องเสียงได้ 100% แต่ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่น ใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ กรดกำมะถัน ควัน สารเคมี มลพิษ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้
- ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างไรก็ตามอาการเริ่มแรกของการป่วยเป็นมะเร็งกล่องเสียง ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบเป็นสำคัญ ถ้าหากผู้ป่วยพบว่าตนเองมีอาการเสียงแหบ หรือมีอาการเจ็บคอยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ชายสูงอายุที่ มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมมานาน ควรรีบไปพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งระยะแรก ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้